ต้นผักติ้ว
ชื่อวิทยาศาสตร์ Cratoxylum formosum(Jack.) Dyer.
ชื่อพ้อง -
วงศ์ Guttiferae
ชื่ออื่นๆ กวยโชง ( กาญจนบุรี ) แต้ว ( ใต้ ) ผักเตา ( เลย ) ติ้วส้ม ( นครราชสีมา )
ไม้ยืนต้นขนาดเล็กถึงกลาง ผลัดใบและจะผลิใบใหม่พร้อมกับออกดอก ลำต้นมีหนามรอบๆแผ่กิ่งก้านออกเป็นทรงพุ่ม เนื้อไม้ค่อนข้างเหนียว กระพี้สีขาว แก่นสีน้ำตาลปนเหลือง มีน้ำยางเหนียวซึมออกมา ความสูงต้น 8 – 15 เซนติเมตร ใบมีลักษณะเรียวยาว ปลายแหลม เรียงเป็นคู่ตรงข้ามกัน ใบกว้าง 1.5 - 5 เซนติเมตร ขอบใบเรียบ มีต่อมอยู่ใต้ใบกระจายไปทั่ว โคนและปลายใบสอบหลังใบเป็นมัน มีสีเข้มกว่าท้องใบ เส้นแขนงใบมี 6 - 8 คู่ ปลายโค้งจรดกันถึงขอบใบ ใบแก่มีสีแสดหรือแดง ดอกมีสีชมพูหรือขาว เป็นดอกสมบูรณ์เพศ ออกเป็นดอกเดี่ยวๆหรือเป็นกระจุกตามง่าม มีกลีบเลี้ยงและกลีบดอกอย่างละ 5 กลีบ ดอกลักษณะมน กลีบดอกรูปไข่ มีเกสรตัวผู้จำนวนมาก และรวมกันเป็นกลุ่ม 3-5 กลุ่ม ผลผิวของผลแข็ง รูปกระสวยสีน้ำตาลถึงน้ำตาลดำ มีนวลขาวติดบริเวณผล เมื่อแก่จัดจะแตกตามรอยประสาน
เป็น 3 แฉก มองเห็นเมล็ดซึ่งมีปีกเป็นรูปโค้งเรียงอัดแน่น ก้านผลยาวประมาณ 1 เซนติเมตร มีขนกระจายอยู่ทั่วไป การขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด พบบริเวณป่าโปร่ง ขึ้นในบริเวณดินทุกชนิด ทนแล้งได้ปานกลาง ส่วนที่ใช้เป็นอาหาร ยอดอ่อน ใบ มีรสฝาดและเปรี้ยว นิยมใช้เป็นผักจิ้มน้ำพริก แจ่ว ซุบหน่อไม้ ลาบ ก้อย หรือนำไปแกง หรือต้ม เพื่อให้อาหารออกรสเปรี้ยวเป็นที่นิยมมาก สรรพคุณทางสมุนไพร รากต้มผสมกับหัวแห้วหมูและรากปลาไหลเผือก
ประโยชน์
- แก้ปัสสาวะขัดหรือขับปัสสาวะ
- ให้วิตามินเอสูง
- โรคตาบอดกลางคืน
- สร้างภูมิคุ้มกันและป้องกันไม่ให้เด็กเป็นโรคตาไก่
- เนื้อไม้ใช้ทำเสาเข็ม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น